เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ของโอกาสทางธุรกิจในเอเชียตะวันออก PChome Thai บริษัทลูกของ PChome Online Inc (8044-tw) กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน จึงได้ขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศแบบสองทาง ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม บริการสั่งซื้อสินค้าที่ส่งตรงจากไทยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ PChome Thai ได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และบริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกชั้นนำของไทย ในการโปรโมตแบรนด์ไทยคุณภาพสูงหลายร้อยแบรนด์ ต่อไปนี้ผู้บริโภคชาวไต้หวันจะสามารถเลือกซื้อสินค้ายอดนิยมของไทยนานาชนิด เช่น เครื่องหอม หรือ สินค้าดีไซน์สร้างสรรค์ ผ่านทาง “PChome Thai ThaiShopping www.pchome.co.th/tw” ด้วยอินเตอร์เฟสภาษาจีนที่ตอบสนองกลุ่มผู้ใช้งานเพื่อให้ได้รับประสบการณ์การช้อปที่ยอดเยี่ยม พร้อมการจัดส่งทางอากาศ ไม่ต้องกังวลเรื่องส่วนต่างของสกุลเงิน อีกทั้งราคาที่แสดงก็เป็นราคาที่รวมภาษีต่างๆ แล้ว ชาวไต้หวันจะช้อปสินค้าทั่วไทยได้โดยไม่ต้องขึ้นเครื่องบินมาเอง!
มร. จัน หง จื้อ ประธานบริษัท PChome Online Inc กล่าวว่า “PChome Thai มีประสบการณ์ทำธุรกิจในตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยมาหลายปี บริษัทได้สร้างเว็บไซต์สำหรับสินค้าไต้หวันที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของไต้หวันได้ขยายตลาดมายังไทย ปีนี้บริษัทจะขยายตลาดในรูปแบบของอีคอมเมิร์ซข้ามประเทศแบบสองทาง ด้วยการโปรโมตแบรนด์ และสินค้ายอดนิยมของไทยในตลาดไต้หวัน PChome Online มุ่งมั่นที่จะขยายโอกาสการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และตลาดของไทยก็มีบทบาทที่สำคัญมาก การพัฒนาตลาดดังกล่าวในเอเชียตะวันออกจะช่วยทำให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น”
มร. ไช่ เหวิน-สยง Managing Director ของบริษัท พีซีโฮม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไต้หวันเสมอมา และผู้บริโภคไต้หวันเองก็คุ้นเคยกับสินค้าไทยเป็นอย่างดี เราเชื่อมั่นในความหลากหลาย ดีไซน์คุณภาพเยี่ยม รวมถึงราคาที่น่าจับต้องของสินค้าไทย บริการจัดส่งสินค้าตรงจากเมืองไทย พร้อมอินเตอร์เฟสหน้าเว็บที่รองรับลูกค้าผู้ใช้ภาษาจีน บริการส่งด่วนทางอากาศ และโปรโมชันการจัดส่งฟรีระหว่างประเทศด้วยเกณฑ์ที่ถูกที่สุดในแวดวงอุตสาหกรรม จะทำให้ผู้บริโภคไต้หวันได้รับประสบการณ์อันยอดเยี่ยมจากการช้อปผ่านอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ คนไต้หวันส่วนใหญ่คุ้นเคยและเชื่อมั่นในบริการของแบรนด์อีคอมเมิร์ซ PChome การเปิดตัวของบริการ PChome Thai ThaiShopping จะยิ่งช่วยส่งเสริมสินค้าแบรนด์ไทยคุณภาพสูงให้เป็นที่รู้จักในตลาดไต้หวันมากยิ่งขึ้น เป็นผลดีทั้งต่อผู้บริโภคชาวไต้หวันและเจ้าของแบรนด์ชาวไทย”
มร. สวี๋ เว่ย หมิน รองผู้แทนรัฐบาล สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นหุ้นส่วนสำคัญของไต้หวันในการส่งเสริม “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” และไต้หวันก็เป็นแหล่งเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับหกของไทย เศรษฐกิจของไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนหลังเกิดโรคระบาดใหญ่ ไม่เพียงขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอีคอมเมิร์ซอย่างเข้มข้น แต่ยังทำให้ไต้หวันและไทยมีความร่วมมือทางอุตสาหกรรมและการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันและกันมากขึ้น เรายินดีอย่างยิ่งที่จะเห็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีชื่อเสียงของไต้หวันมาลงทุนในประเทศไทย โดย PChome Thai จะให้บริการจัดส่งสินค้าไทยถึงมือผู้บริโภคในไต้หวัน นับเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและไทยในเรื่องอีคอมเมิร์ซได้เป็นอย่างดี”
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “ขอบคุณทางแพลตฟอร์ม PChome ที่เปิดประตูให้สินค้าไทยมีพื้นที่บนตลาดออนไลน์ของไต้หวัน ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เราใช้แนวคิด TOPTHAI ในการคัดสรรสุดยอดแบรนด์สินค้าไทยคุณภาพเยี่ยม ที่มีดีไซน์โดดเด่น โดยเน้นสินค้าในกลุ่ม BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคชาวไต้หวันมีความตระหนักถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นสินค้าที่มีการออกแบบและมีกระบวนการผลิตที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สำคัญสินค้าในร้าน TOPTHAI ผลิตในไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ซื้อชาวไต้หวันทุกท่านจะสามารถเลือกซื้อสินค้าไทยอย่างมีความสุข”
นางปฐมา ตรียะประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายอีคอมเมิร์ซและธุรกิจระหว่างประเทศ ของบริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า “สยามพิวรรธน์คือกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกชั้นนำของไทย บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะทำให้สินค้าแบรนด์ไทยได้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมไปทั่วโลก
นอกจากความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา ครั้งนี้เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือจาก PChome Thai ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่บุกเบิกการให้บริการอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศเพื่อนำเสนอสินค้าแบรนด์ไทยสู่ไต้หวัน ดังนั้น สามแบรนด์หลักของสยาม พิวรรธน์ ได้แก่ Ecotopia ICONCRAFT และ Absolute Siam จะได้รับความนิยมมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้บริโภคชาวไต้หวันก็จะเห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของงานฝีมือไทย”
เพื่อฉลองการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ PChome Thai มีส่วนลดมากมายที่จะเชื้อเชิญนักช้อปออนไลน์ชาวไต้หวันให้มาเพลิดเพลินกับการเลือกซื้อสินค้าไทย!”
โปรเปิดตัว 1: ฟรีค่าจัดส่งสำหรับคำสั่งซื้อมูลค่า 1,200 บาทขึ้นไป คุ้มสุดๆ!”
ให้คุณได้เลือกช้อปสินค้าแบรนด์ไทยคุณภาพสูงหลายร้อยรายการ ตั้งแต่อาหาร แฟชั่น ความงาม ของแต่งบ้าน ไปจนถึงแบรนด์ดีไซน์ โดยไม่มีค่าส่งเมื่อสั่งซื้อเกิน 1,200 บาท (น้ำหนักไม่เกิน 6 กิโลกรัม)”
โปรเปิดตัว 2: ลดสุดๆ กับสินค้าราคาเพียง 1 ดอลลาร์ไต้หวัน รีบเลย!”
ตั้งแต่ 8 มีนาคม ถึง 17 เมษายน ทุกวันอังคารเวลา 10 โมงเช้า PChome Thai จะคัดเลือกสินค้ายอดนิยมมาจำหน่ายในราคาเพียง 1 เหรียญไต้หวัน สินค้าดังกล่าวได้แก่ ชานมปรุงสำเร็จตรามือ ยาสีฟันสมุนไพร ขนมบิสกิตรสกล้วยเคลือบช็อกโกแลต บ๊วยอบแห้ง สาหร่ายอบกรอบ เป็นต้น และคราวนี้เรายังได้เชิญเซเลบไทยที่โด่งดังทางอินเตอร์เน็ตอย่างมาดามอลิซาเบ็ธ ให้มาร่วมคัดเลือกสินค้าเพื่อจำหน่ายในราคา 1 ดอลลาร์ไต้หวัน ให้กับแฟนๆ ของเธอด้วย เช่น ชาดำจากชาตรามือ น้ำผึ้งดอกลำไยตราดอยคำ สบู่แฮนด์เมดมาดามเฮง รวมถึงแป้งเย็นตรางู เป็นต้น ทุกอย่างในราคา 1 ดอลลาร์ไต้หวัน และทุกสัปดาห์เราจะเลือกสินค้า 1 ดอลลาร์ไต้หวันที่ต้องมีขึ้นมา 3 ชนิด พร้อมส่วนลดมูลค่ากว่า 200 ดอลลาร์ไต้หวันให้ทุกคนสามารถช้อปได้จุใจจนหายคิดถึงเมืองไทย“
PChome Thai ThaiShopping” มียอดขายเพิ่มขึ้นเท่าตัวตั้งแต่ช่วงเปิดทดลองระบบในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เราพบว่านอกจากของทานเล่นที่ผู้บริโภคชาวไต้หวันโปรดปรานแล้ว เครื่องแกงไทย ของแต่งบ้านที่ทำจากไม้ กาแฟ เครื่องหอม และเสื้อผ้าแบรนด์ดีไซเนอร์ไทย ก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน ในอนาคต นอกจากเราจะร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสยามพิวรรธน์ในการพัฒนา นำสินค้า รวมถึงแบรนด์ไทยที่มีศักยภาพเข้าร่วมแพลตฟอร์มแล้ว PChome Thai จะมองหาโอกาสในการสร้างความร่วมมือ เพิ่มความเข้มข้นในธุรกิจอีคอมเมิร์ซสองทางระหว่างไทยกับไต้หวัน และส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกให้มากยิ่งขึ้น
Leave a Reply