ดีแทคประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2561 มีการเติบโตของกำไรสุทธิอย่างแข็งแกร่ง โดยมี EBITDA อยู่ที่ 43.8% เพิ่มขึ้น 8.9 percentage points จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ลดลงเล็กน้อย 1.1% ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดบริการสื่อสารไร้สาย รายได้จากบริการระบบรายเดือนยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่ตลาดบริการระบบเติมเงินยังคงเผชิญกับความท้าทาย ดีแทคได้เปิดตัวแคมเปญ “ใจดี” เสริมสร้างความคุ้มค่าผ่านทางลอยัลตี้โปรแกรม เพื่อรักษาฐานลูกค้าและดึงดูดลูกค้าใหม่
บริษัทมีฐานลูกค้ารวมเมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 1อยู่ที่ 21.8 ล้านเลขหมาย โดยประมาณ 98% ลงทะเบียนใช้งานภายใต้บริษัทดีแทค ไตรเน็ต ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของดีแทคที่ได้รับใบอนุญาตใช้คลื่น 2.1 GHz จาก กสทช. ดีแทคยังคงพัฒนาเครือข่าย 4G บนคลื่น 2100 MHz อย่างต่อเนื่อง โดยได้ติดตั้งเสาส่งสัญญาณและสถานีฐานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการสิ้นสุดของสัมปทานในเดือนกันยายน 2561 โดยดีแทคมั่นใจว่าจะสามารถให้บริการลูกค้าได้ต่อเนื่องโดยไม่มีผลกระทบ ไม่ว่าการประมูลคลื่นความถี่จากสัมปทานเดิมที่หมดอายุลง จะถูกจัดขึ้นเมื่อไร
นอกจากนี้ การร่วมเป็นพันธมิตรกับทีโอทีในการให้บริการบนโครงข่ายคลื่นความถี่ 2300 MHz จะส่งผลให้เครือข่าย 4G ของดีแทคมีแบนด์วิดท์ที่กว้างที่สุดในตลาด พร้อมรองรับความต้องการในการใช้บริการข้อมูลที่สูงขึ้น และเสริมสร้างประสบการณ์ใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายของลูกค้าบนโครงข่ายดีแทค ซึ่งปัจจุบันครอบคลุม 94% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ โดยในช่วงไตรมาส 1/2561 จำนวนผู้ใช้บริการ 4G เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.5 ล้านเลขหมาย และสัดส่วนผู้ใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นมาที่ 55%
แม้ว่ารายได้รวมจะลดลงในไตรมาส 1/2561 แต่ EBITDA เติบโตอย่างแข็งแกร่งมาอยู่ที่ 8,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากการลดลงของค่าธรรมเนียม การอุดหนุนค่าเครื่อง และค่าใช้จ่ายในการขายและดำเนินการ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนขยายเครือข่ายภายใต้ระบบใบอนุญาต
กำไรสุทธิในไตรมาสที่ 1 เพิ่มขึ้น 474% มาอยู่ที่ 1,300 ล้านบาท เนื่องจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของ EBITDA และการปรับปรุงการตั้งสำรองสำหรับกรณีข้อพิพาทในเรื่องส่วนแบ่งรายได้กับ กสท นอกจากนี้ กระแสเงินสดจากการดำเนินการ (EBITDA- CAPEX) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5,800 ล้านบาท และอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ที่ 0.6 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ 1.7x และเงินสดในมืออยู่ที่ 29,500 ล้านบาท ซึ่งแสดงถึงฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจลงทุนในอนาคตของดีแทค
ดีแทคยังคงประมาณการทางการเงินสำหรับปี 2561 ไว้ในระดับเดิม โดยคาดการณ์ว่ารายได้จากการให้บริการ (ไม่รวม IC) จะใกล้เคียงกับปีก่อน EBITDA margin จะอยู่ในช่วง 34% – 36% และ CAPEX จะอยู่ระหว่าง 15,000 -18,000 ล้านบาท
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ผมมีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งในไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่สำคัญที่สุดปีหนึ่งในประวัติศาสตร์ของดีแทค ในขณะที่สัมปทานคลื่นความถี่ใกล้จะหมดอายุลง เราได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับทีโอที ในการให้บริการบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ซึ่งเป็นการลดความไม่แน่นอนทางธุรกิจลงได้เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ เรายังได้หารือกับ กสท เพื่อที่จะทำการเช่าอุปกรณ์เครือข่ายภายใต้สัมปทานเดิมที่กำลังจะหมดลง โดยเราคาดว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการทำสัญญาเช่าระยะยาวได้ก่อนที่สัมปทานจะสิ้นสุดลง และถึงแม้ว่าจะยังไม่มีความแน่นอนในกำหนดการจัดการประมูลคลื่นความถี่เดิมจากสัมปทานที่หมดอายุ แต่เรามั่นใจว่าเราจะสามารถให้บริการโทรศัพท์มือถือแก่ลูกค้าของเราได้อย่างต่อเนื่อง ปราศจากผลกระทบใด ๆ ในช่วงระยะที่เปลี่ยนผ่านนี้”
Leave a Reply