ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ในไทยปี 59 ฟันมูลค่ารวมกว่าสองหมื่นล้านบาท คาดการณ์ยังคงเติบโตต่อเนื่องขานรับกระแสนิยมพุ่งทะยาน

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (DEPA) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยผลสำรวจมูลค่าดิจิทัลคอนเทนต์ของปี 2559 ในประเทศไทย โดยครอบคลุมสามสาขาหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมแอนิเมชัน อุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ และอุตสาหกรรมเกม โดยผลสำรวจระบุ ทั้งสามอุตสาหกรรมมีมูลค่ารวมกันประมาณ 21,981 ล้านบาท

แบ่งเป็นมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมแอนิเมชันจำนวน 3,965 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลง 1.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2558 ขณะที่อุตสาหกรรมคาแรคเตอร์มีมูลค่า 1,687 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 7.3 เปอร์เซ็นต์ และอุตสาหกรรมเกมมีมูลค่ารวม 16,328 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตสูงถึง 14.8 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2558

Group_DSC4242

               ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า การสำรวจมูลค่าดิจิทัลคอนเทนต์ของปี 2559 นับเป็นครั้งแรกที่ได้แยกกลุ่มอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ออกจากกลุ่มแอนิเมชัน พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนและเน้นการสำรวจผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นระดับผู้นำ หรือ key player ในแต่ละอุตสาหกรรมมากขึ้น

โดยมีวัตถุประสงค์เป็นไปตามนโยบายของดีป้า เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โครงการสำรวจนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์ไทย (TACGA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) และสมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (BKK SIGGRAPH)

ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่า อุตสาหกรรมแอนิเมชันและเกมเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกระแสนิยมเป็นอย่างมาก โดยในปี 2559 ผู้ประกอบการได้นำเข้าหรือสร้างแอนิเมชันและเกมที่ได้รับความนิยมมาก ทำให้มูลค่าของรายได้จากดิจิทัลคอนเทนต์เติบโตมากขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ถึงแม้จะเกี่ยวข้องกับกระแสความนิยมเช่นเดียวกัน ทว่ามีคาแรคเตอร์ที่ได้รับความนิยมมานานและผู้ประกอบการสามารถผลิตออกมาขายเป็นสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มการเติบโตในปี 2560 มูลค่าดิจิทัลคอนเทนต์ในไทยคาดว่าจะแตะระดับกว่า 24,000 ล้านบาท และมีมูลค่ากว่า 26,000 ล้านบาทในปี 2561 โดยสาขาอุตสาหกรรมแอนิเมชันถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 1.8 เปอร์เซ็นต์ และขยายการเติบโตเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2561 ขณะที่สาขาอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์คาดว่าจะเติบโต 9.6 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2560 และเติบโตร้อยละ 8.1 ในปี 2561

สำหรับสาขาเกมคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 12.2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2560 และร้อยละ 12 ในปี 2561 ทั้งนี้ ตัวเลขการคาดการณ์ดังกล่าวนี้เป็นไปตามการประเมินจากปริมาณงานที่ผู้ประกอบการกำลังผลิต รวมทั้งแนวโน้มและปัจจัยบวกต่างๆ ของตลาดที่คาดว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ในไทยยังถูกขับเคลื่อนด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งในปี 2559 ตัวเลขผู้จัดจำหน่ายและนำเข้าแอนิเมชันมีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50 % ของมูลค่าแอนิเมชันทั้งหมด ขณะที่ผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้าและดูแลสิทธิคาแรคเตอร์มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 93% ส่วนผู้จัดจำหน่ายและนำเข้าเกมมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 96% ของมูลค่าตลาดเกมทั้งหมด

ผลการสำรวจดิจิทัลคอนเทนต์ของปี 2559 ยังรายงานมูลค่าการผลิตและส่งออกงานแอนิเมชัน คาแรคเตอร์และเกม โดยมีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 1,235.3 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเทียบกับปีก่อนหน้าร้อยละ 6.2 โดยอุตสาหกรรมสาขาแอนิเมชันมีมูลค่าการส่งออก 787.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 7.6 ซึ่งประเทศที่เป็นผู้ว่าจ้างผลิตหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรปและสหรัฐอเมริกา ขณะที่สาขาคาแรคเตอร์มีมูลค่าการส่งออกรวมเพียง 13.7 ล้านบาท บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าการส่งออก 12.1 ล้านบาท สำหรับสาขาเกมมีมูลค่าการส่งออกแตะที่ยอด 434.4 ล้านบาท มากกว่าปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าการส่งออก 419.7 ล้านบาท

“ประเทศไทยยังคงพึ่งพาตลาดต่างประเทศมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าลิขสิทธิ์หรือรับจ้างผลิต ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการไทยมีฝีมือและมีศักยภาพที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก การที่ผู้ผลิตไทยจะมีผลงานที่มีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตัวเองมากขึ้น จะช่วยลดปัญหาการถูกกดราคาจากต่างประเทศ ลดอัตราการนำเงินออกไปนอกประเทศ และสามารถเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในระยะยาวได้เป็นอย่างดี

Group mascot_DSC4096

ทั้งนี้ ดีป้าพร้อมจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย และยกระดับคุณภาพผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันและเติบโตในธุรกิจได้อย่างยั่งยืนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การส่งเสริมให้เกิดความสนใจในอุตสาหกรรมแอนิเมชัน เกม และคาแรคเตอร์  การส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ โดยเฉพาะการพัฒนาตลาดเพื่อการส่งออก ผ่านกองทุน Internationalization Fund เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแหล่งเงินทุน และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในระดับสากลได้  ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์หน้าใหม่ ผ่าน Digital Startup Program  ส่งเสริมและสนับสนุน Co-Creation Space เพื่อเป็นสถานที่ให้ผู้ประกอบการมาพบปะแลกเปลี่ยน และต่อยอดไอเดีย ให้เกิดร่วมมือขับเคลื่อนธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ และสร้างพลังในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยต่อไป” ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*