เผยโฉมสุดยอด 3 ผลงานที่คว้ารางวัลโครงการ Young Technopreneur 2017 ที่สามารถตอบโจทย์การนำแนวคิดด้านนวัตกรรมใหม่ๆสู่การเป็นนักธุรกิจด้านเทคโนโลยีตัวจริงได้สำเร็จ ปีหน้า “กลุ่มสามารถ” และสวทช.ยังผนึกกำลังจัดโครงการ Young Technopreneur 2018 ต่อเนื่อง มุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ นำ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามยุทธศาสตร์ภาครัฐมาใช้เป็นประเภทการประกวด ภายใต้หัวข้อ “การนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือเศรษฐกิจชุมชน”
นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “สำหรับปีนี้มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวดกว่า 130 ผลงาน ซึ่งคณะกรรมการจากทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมพิจารณาตัดสินทีมที่มีความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมที่ต่างและสร้างมูลค่า สอดรับกับแผนธุรกิจที่โดดเด่นเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ จำนวน 3 ทีม
โดยรางวัลชนะเลิศคว้ารางวัลสุดยอด Samart Innovation Award พร้อมรับเงินรางวัล 200,000 บาท คือ ผลงาน “เพ็ทอินชัวร์ ประกันภัยภัยสัตว์เลี้ยงออนไลน์” เป็นโบรกเกอร์ประกันภัยสัตว์เลี้ยงออนไลน์แบบครบวงจรเจ้าแรกในประเทศไทย , รองชนะเลิศอันดับ 1 เรือเติมอากาศ (Smart Boat O2 Improvement) เป็นอุปกรณ์เพิ่มออกซิเจนในน้ำที่มีขนาดเล็กและมีความเร็วสูง และช่วยประหยัดพลังงานกว่าระบบเดิมถึง 10 เท่า และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ “ชาวไร่” เป็นระบบดูแลพืชอัตโนมัติ มีระบบบริหารจัดการฟาร์มให้ผู้ใช้งานวางแผนการปลูกพืชได้ และติดตั้งได้ด้วยตัวเอง
“ผลงานในปีนี้ สะท้อนให้เห็นว่าน้องๆผู้ที่เข้าประกวดไม่ได้เน้นแค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการศึกษาความต้องการของตลาด แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้มาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคเป็นสำคัญ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง สร้างประโยชน์ให้สังคม ชุมชน และประเทศชาติ เช่น ช่วยลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน พัฒนาคุณภาพเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตเป็นต้น”
ในปี 2018 กลุ่มบริษัทสามารถและสวทช. ยังคงมุ่งมั่นผสานความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน ด้วยการสนับสนุนให้เกิดเจ้าของธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อเนื่อง ภายใต้ “โครงการ Young Technopreneur 2018” และมอบรางวัล “สุดยอดนักคิด นักพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ” หรือรางวัล Samart Innovation Award ต่อเป็นปีที่ 16 กลุ่มบริษัทสามารถนับเป็นภาคเอกชนรายเดียวที่สนับสนุนด้านความคิดสร้างสรรค์ยาวนานที่สุด
ซึ่งโครงการฯ ยังคงเน้นพัฒนาทักษะความรู้ด้านธุรกิจและเทคโนโลยี ทั้งเนื้อหา การลงมือปฏิบัติจริง และการพบปะนักลงทุนเพื่อสร้างโอกาสให้เกิดนักธุรกิจตัวจริง โดยปีนี้เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ของภาครัฐจึงนำ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายมาใช้เป็นประเภทการประกวด ภายใต้หัวข้อ “การนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือเศรษฐกิจและชุมชน” โดยผลงานที่ผ่านเข้ารอบ 20 ทีม จะได้รับทุนพัฒนาผลงานจำนวน 30,000 บาท และเงินรางวัล 200,000 บาท สำหรับรางวัลชนะเลิศ Samart Innovation Award เพื่อเป็นกำลังใจและใช้ในการพัฒนาผลงานสร้างโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจต่อไป
ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 6 ปีของการดำเนิน “โครงการ Young Technopreneur หรือ เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี” มีเยาวชนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯกว่า 700 ทีม ร่วมอบรมความรู้ด้านพื้นฐานธุรกิจเพื่อพัฒนาความรู้ในการนำเทคโนโลยีออกสู่ตลาด และมีการจัดตั้งเป็นธุรกิจแล้วกว่า 40 ราย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้กับนักธุรกิจเทคโนโลยีรุ่นใหม่ของประเทศไทยในอนาคต
สำหรับปีหน้า โครงการฯยังคงความเข้มข้นทั้งหลักสูตรอบรมและให้ความรู้ ที่มีการปรับเนื้อหาให้เหมาะกับนักธุรกิจรุ่นใหม่มากขึ้น , กิจกรรม “เถ้าแก่น้อย Meet Investors” ได้เชิญกลุ่มนักลงทุน และลูกค้ากลุ่มเป้าหมายรายใหญ่เข้าร่วมงาน และกิจกรรม Idea To Market Boot Camp ยังเน้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯจะได้ลงมือสำรวจตลาด เก็บ วิเคราะห์ และวางแผนการทำธุรกิจจำลอง
ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างโอกาสให้น้องๆ ได้เป็นเจ้าของธุรกิจตัวจริงให้ได้ ภายใต้หัวข้อการประกวดที่มีการปรับให้เข้ากับยุทธศาตร์ภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับ “การนำเทคโนโลยีมาสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นที่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม , อุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซอฟแวร์ , อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร , อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ สวทช.ยังพร้อมสนับสนุนให้ Startup โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำด้านธุรกิจ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การให้บริการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การลดภาษีสำหรับงานวิจัยและพัฒนาได้ถึง 200% มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริม Startup พร้อมสร้างโอกาสในการการพบนักลงทุน คู่ค้า และเข้าร่วมการจับคู่ธุรกิจซึ่งเป็นกิจกรรมที่เราจัดขึ้นเป็นประจำด้วย
Leave a Reply