“ดีแทค” เผย “เกมออนไลน์” เสี่ยงเด็กถูกกลั่นแกล้ง

นางไซแนบ ฮูสเซน ซิดดิคี ผู้อำนวยการฝ่ายรับผิดชอบต่อสังคม เทเลนอร์กรุ๊ป กล่าวว่า ดีแทคและเทเลนอร์กรุ๊ป ได้จัดทำสำรวจในหัวข้อ สถานการณ์และการรับรู้ต่อปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ของพ่อแม่ในภูมิภาคเอเชีย เนื่องในวันแห่งการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย (Safer Internet Day) โดยสำรวจผ่านผู้ตอบแบบสอบถามอายุระหว่าง 18-64 ปี ทางเฟซบุ๊กจำนวน 320 รายในประเทศบังกลาเทศ อินเดีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ปากีสถาน สิงคโปร์ ประเทศไทยและอื่นๆ

จากผลการสำรวจพบว่า 46% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ผู้ปกครองมีการพูดคุยต่อปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ตลอดเวลา ตามด้วย 39% พูดคุยเพียงบางครั้งเท่านั้น ขณะที่ 12% ไม่เคยมีการพูดคุยเลยแม้แต่ครั้งเดียว จากตัวเลขดังกล่าว ถือเป็นนัยยะที่ดีต่อการรับรู้และตระหนึกถึงปัญหาความปลอดภัยทางโลกออนไลน์ต่อเยาวชน

นอกจากนี้ ยังพบว่าลักษณะการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ที่พบได้บ่อยจะมีลักษณะการปฏิสัมพันธ์อย่างไม่เป็นมิตร การแสดงความคิดเห็นอย่างหยาบคาย ตลอดจนการดูหมิ่นว่าร้าย โดยผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 22% ตระหนักได้ว่าลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะของการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ขณะที่21% ไม่ได้ตระหนักรู้การกระทำข้างต้นเป็นลักษณะหนึ่งของการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม พบว่าอีก 19% กล่าวว่า เด็กๆ ไม่เผชิญปัญหาถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันในการปกป้องและตอบโต้ตัวเองจากโลกออนไลน์ จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนได้ว่า เด็กในเอเชียกำลังเรียนรู้และมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นต่อปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์

อย่างไรก็ตาม เด็กจำนวน 29% ระบุว่าการถูกกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ทำให้เกิดความหดหู่ใจไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในทางกลับกัน  24% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดจากการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์กลับทำให้เด็กมีความตื่นตัวและเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองจากโลกออนไลน์ ขณะที่อีก 24% ระบุ ดูเหมือนว่าเด็กๆ ไม่เคยเผชิญสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ 7% ระบุว่าการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์กลับสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กมีความคิดที่จะช่วยเหลือเหยื่อจากปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจยังพบอีกว่า เด็กที่เล่นเกมออนไลน์มีความเสี่ยงที่จะเกิดการกลั่นแกล้งสูงกว่าการการเข้าเว็บไซต์ปกติ โดย 79% ของผู้ตอบแบบสอบถามตระหนักรู้ว่าเด็กๆ ของพวกเขากำลังถูกคุกคามและเป็นอันตรายต่อร่างกายในขณะเล่นเกมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย ขณะที่ 49% ระบุว่าเด็กๆ เป็นเป้าหมายจากคอมเม้นที่ก้าวร้าวรุนแรง ไม่ว่าเป็นการเรียกชื่อ การเหยียดทางชาติพันธุ์และเพศ

จากปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ที่รุนแรงขึ้นและมาในหลากหลายรูปแบบ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการตระหนักรู้ในการเข้าถึงเว็บไซต์และเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย ตามด้วยการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแชร์ข้อมูลส่วนตัวผ่านโลกออนไลน์

ปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ได้สร้างความห่วงใยของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ การให้การศึกษาและเกราะคุ้มกันต่อการเข้าถึงแหล่งที่เป็นบ่อเกิดจากปัญหาการคุกคามทางโลกออนไลน์ ซึ่งจากผลสำรวจระบุว่า เด็กๆ จำนวน 55% เคยให้ข้อมูลส่วนตัวแก่คนแปลกหน้าบนโลกออนไลน์ ขณะที่ 51% เคยเข้าเว็บไซต์ที่เด็กไม่สมควรเข้าไปดู

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแพลทฟอร์มของโซเชียลมีเดียและการหลอกลวงทางโลกออนไลน์จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เด็กๆ ต่างตระหนักรู้ว่า พวกเขากำลังถูกแฮกข้อมูลส่วนตัว ภาพหรือวีดีโอที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดียและอีเมล

“เราเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับประชากรดิจิทัลในการเรียนรู้และเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ เทเลเนอร์กรุ๊ปในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลได้แสดงความรับผิดชอบและให้พันธกิจในการให้ความรู้ต่อเด็กและเยาวชนในการปกป้องตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่นต่อการกลั่นแกล้งทางออนไลน์” นางซิดดิคี กล่าว

ทั้งนี้ วันแห่งการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย (Safer Internet Day) ถือกำเนิดขึ้นในปี 2004 ที่สหราชอาณาจักร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้องค์กรต่างๆ ทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตเล็งเห็นถึงความสำคัญในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบและใช้งานในเชิงบวกและเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยกำหนดขึ้นในวันอังคารที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี สำหรับปี 2560 ตรงกับวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ โดยมีแนวคิดที่ว่า Be the change: unite a better internet (เปลี่ยนตัวเอง เพื่อสังคมอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น)

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*