“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ภัยที่น่ากลัว หรือทรัพย์สินมูลค่าสูงในอนาคต ?

คุณมีมือถือมาแล้วกี่เครื่อง แล้วเครื่องเก่าคุณไปไหนแล้วเป็นคำถามแรกที่ทำให้ผู้เขียนต้องหยุดนิ่งทบทวนดูว่า ตั้งแต่เป็นวัยรุ่นเริ่มแรกจวบจนวัยรุ่นตอนปลาย เราเคยใช้โทรศัพท์มือถือมามากมาย ไล่เรียงมาตั้งแต่ Nokia, Ericsson, Alcatel จนเปลี่ยนมาเป็น PDA อย่าง O2 จวบจนถึงยุคสมาร์ทโฟน iPhone และ Android แล้วก็หันมาคิดว่าเราไปเก็บมือถือเหล่านั้นไว้ที่ไหน แล้วมันไปไหนแล้วตอนนี้ ผู้เขียนก็คงเป็นเหมือนกับอีกหลายๆ คนที่เป็นโรคเสียดายของ ไม่ยอมทิ้งเครื่องเก่าๆ ไป ด้วยความเชื่อที่ว่า มันซื้อมาแพงทิ้งไปก็เสียดาย เก็บไว้เผื่อใช้งานได้ และสุดท้ายตอนนี้ไปไหนแล้วก็ไม่รู้ แล้วอันตรายที่ตามละ เอาจริงๆ ผู้เขียนไม่เคยคิดเลย จนได้มาร่วมการเดินทางกับทางดีแทค ครั้งนี้

001

002

003

“ทิ้ง Smart” (Think Smart) เป็นโครงการที่รณรงค์เรื่องปัญหามลพิษจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนไทย โดยเป็นความร่วมมือกับทางบริษัทเทส-แอม ตั้งตู้รับแบตเตอรี่ และอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ให้ลูกค้าทั่วไปนำมาทิ้งได้ที่สำนักงานบริการลูกค้าของดีแทค และศูนย์การค้าชั้นนำกว่า 120 จุด นอกจากนั้นยังมีอีกหลายสถานทีที่ทางดีแทคและเทสแอม เข้าไปเจรจาเพื่อนำกล่องรับทิ้งไปตั้งไม่ว่าจะเป็น คอนโด หรือ อาคารสำนักงานใหญ่ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งขอชื่นชมทางดีแทคที่ได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อสังคมไทย

005

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ มัจจุราชเงียบ

ผู้เขียนเองก็ไม่ได้คาดคิดว่าประเทศไทยในปี 2558 ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่ามีของเสียอันตรายชุมชนเกิดขึ้น จำนวน 591,127 ตัน โดยแบ่งเป็น ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 84,233 ตัน (65%) และของเสียอันตรายประเภทอื่นๆ จากชุมชน เช่น แบตเตอรี่ หลอดไฟ ภาชนะบรรจุสารเคมี อีก 206,894 ตัน (35%) แต่สำหรับการจัดการของเสียอันตรายชุมชนนั้น มีการรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชนของจังหวัด 83 แห่ง สามารถเก็บรวบรวมของเสียอันตรายชุมชนได้ 250 ตัน และส่งไปกำจัดแล้ว 174 ตัน ทั้งนี้ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นั้นคนทั่วไปมักจะขายให้กับผู้รับซื้อของเก่าที่นำไปแยกชิ้นส่วนแบบผิดวิธี หรือทิ้งปะปนไปกับขยะทั่วไป ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายทั้งโดยตรงต่อคนในชุมชน และเป็นการสร้างมลภาวะกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

007

เมื่อมองในมุมของตลาดโทรศัพท์มือถือนั้น ทางดีแทคได้ให้ข้อมูลว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 83 ล้านเลขหมาย ซึ่งโดยทั่วไป โทรศัพท์มือถือจะมีวงจรชีวิตสั้นกว่า 2 ปี แบตเตอรี่มีวัฏจักรชีวิตของการชาร์จที่ 200 รอบ หรือ 1 ปี 4 เดือน นอกจากนั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังส่งผลต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสนองตอบความต้องการและรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ รวมถึงราคาของสมาร์ทโฟนที่ต่ำกว่า 10,000 บาท ที่ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ทำให้ยอดขายสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นกว่า 47% โดยมีจำนวนถึง 22 ล้านเครื่อง ในปี 2558 โดยผู้บริโภคอาจลืมนึกถึงการจัดการผลิตภัณฑ์เก่าที่ไม่ต้องการ และซากของผลิตภัณฑ์ที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุ”

014

ขุมทองที่ซ่อนอยู่

จากการที่ผู้เขียนได้เป็นส่วนหนึ่งในการไปเยี่ยมชมโรงงานของบริษัทเทส-แอม ที่ทำการกำจัดหรือรีไซเคิลผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างถูกวิธีและปลอดภัย ทำให้ได้รู้ว่าในแต่ละผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนผสมของแร่ธาตุ โลหะหนักอยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น นิเกิล ลิเธียม ทองแดง แคดเมี่ยม ตะกั่ว หรือ ทองคำ ใช่แล้วครับ ทองคำ ซึ่งจะอยู่ในแผงวงจรที่เราคงคุ้นเคยกันดี

013

ทางผู้บรรยายเล่าให้ฟังว่า อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ 200,000 เครื่อง เมื่อเอามาคัดแยกแล้วนั้น จะสามารถหลอมทองคำบริสุทธิ์ได้ถึง 1 กิโลกรัม และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ผู้ค้าของเก่าหลายๆ ราย นำผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์มาเผาไฟ เพื่อสกัดเอาแร่ทองแดงและทองคำออกมา โดยทิ้งซากที่เหลือปะปนกับขยะทั่วไป ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ผิดและก่อให้เกิดอันตรายอย่างมหาศาล แต่หากนำผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นมารีไซเคิลอย่างถูกวิธีแล้ว นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ต้องสกัดโลหะเหล่านั้นจากการขุดเหมืองแร่ ยังเป็นการลดรอยเท้าคาร์บอน ดังตัวอย่างจากการนำโทรศัพท์มือถือกลับมารีไซเคิล 1 เครื่องนั้น จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนได้ถึง 12.585 กิโลกรัมอีกด้วย

012 006

กฎหมายและการควบคุม

ในปัจจุบันขยะอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นในเอเชียมีจำนวนกว่า16 ล้านตัน หรือคิดเป็น 40% ของปริมาณที่เกิดขึ้นทั้งโลก และเมื่อนำมาคิดเป็นอัตราการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ของคนเอเชียจะเท่ากับ 3.7 กิโลกรัมต่อคน ในขณะที่ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จานวน 419,000 ตัน ซึ่งคิดเป็นอัตราการผลิตคนละ 6.4 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชีย ในขณะที่ประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฏาน ไซปรัส และตุรกี มีกฎหมายที่เกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ส่วนฟิลิปปินส์และจอร์แดนอยู่ในช่วงรอการอนุมัติ รวมถึงประเทศไทยเองร่างพระราชบัญญัติการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังอยู่ระหว่างการรอลงนามของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ได้แต่หวังว่าทุกภาคส่วนจะหันมาสนใจและตระหนักในปัญหานี้ และร่วมกันผลักดันให้ให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกมาโดยเร็ว เพื่อช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมให้กับชุมชนของเรา

011

สุดท้ายนี้ขอบคุณทุกๆ โครงการไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐหรือภาคเอกชน ที่ตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในระดับประเทศ และระดับโลก ดังจะเห็นจากเมื่อปีที่ผ่านมาในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในกรุงปารีส ได้เห็นชอบร่างข้อตกลงลดโลกร้อน ลดการใช้ถ่านหิน-น้ำมันดิบ-ก๊าซให้หันมาใช้พลังงานจากแสงแดดและพลังงานลมทดแทน มอบเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ให้ประเทศยากจน ช่วยทำให้โลกเป็นสีเขียวขึ้น และที่ประชุมยังได้ลงมติ ตั้งเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเฉลี่ยไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและจะจำกัดไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสหากเป็นไปได้, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gases) ให้ได้ภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ และจะมีการทบทวนความคืบหน้าทุกๆ 5 ปี

1ok
2ok
3ok
4ok

สิ่งที่เราจะช่วยได้เริ่มจากเรื่องง่ายๆ อย่างการนำเอาขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้งตามจุดรับ “ทิ้ง Smart” ที่ศูนย์บริการดีแทค และห้างชั้นนำทั่วไป เริ่มต้นกันวันนี้ เพื่อโลกที่ดีของลูกหลานในอนาคตของพวกเรา !!!

* ขอขอบคุณภาพ infographic จาก dtac

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*