ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ประกาศเปิดสายการผลิตรถกระบะสายพันธุ์แกร่ง ฟอร์ด เรนเจอร์ ซึ่งเป็นกระบะที่โดดเด่นที่สุดในเซ็กเมนต์อย่างเป็นทางการ ณ โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง หรือ เอฟทีเอ็ม ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีอยู่สูงมากทั่วภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก
ทั้งนี้ ฟอร์ดยังคงมีการผลิตกระบะเรนเจอร์ ที่โรงงานร่วมทุนออโต้ อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย หรือ เอเอที ซึ่งจะยังคงเป็นโรงงานหลักในการผลิตรถฟอร์ด เรนเจอร์เพื่อส่งออกในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก
จากที่มีการคาดการณ์ว่าโรงงานเอเอทีจะดำเนินการผลิตใกล้เต็มกำลังการผลิตในอนาคตอันใกล้นี้ ฟอร์ดจึงได้ลงทุนจำนวน 186 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6,269 ล้านบาทที่โรงงานเอฟทีเอ็มเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตรถกระบะเพิ่มเติม
ฟอร์ด เรนเจอร์ เป็นรถกระบะที่ขายดีที่สุดของฟอร์ดในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก รวมถึงเป็นรถกระบะที่ขายดีที่สุดในประเทศนิวซีแลนด์ เวียดนาม ไต้หวัน กัมพูชา และเมียนมาร์ และเป็นรถกระบะที่ขายดีที่สุดเป็นอันดับสองในประเทศออสเตรเลีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
ฟอร์ด เรนเจอร์ ครองอันดับรถกระบะที่ขายดีที่สุดเป็นอันดับสามในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดในเซ็กเมนต์รถกระบะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการเปิดตัวฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ ไปเมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยฟอร์ดมีส่วนแบ่งการตลาดรถกระบะในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสูงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดที่ฟอร์ดเคยมีมา
“การเพิ่มกำลังการผลิตรถกระบะสายพันธุ์แกร่ง ฟอร์ด เรนเจอร์ จะช่วยให้ฟอร์ดสามารถตอบรับความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่มากทั่วทั้งภูมิภาคได้” มร. มาร์ค คอฟแมน ประธานฟอร์ด อาเซียน กล่าว “การลงทุนเพิ่มที่โรงงานเอฟทีเอ็มยังช่วยเน้นย้ำความมั่นใจที่เรามีต่อประเทศไทยในระยะยาว รวมถึงความมั่นใจในคุณภาพรถยนต์ระดับโลกจากพนักงานของเรา”
ในประเทศไทย ฟอร์ดเป็นหนึ่งในบริษัทรถยนต์ที่มีการลงทุนมากที่สุด โดยได้ลงทุนกว่า 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.45 หมื่นล้านบาท ทั้งในโรงงานที่ฟอร์ดเป็นเจ้าของทั้งหมดและแบบร่วมทุน นอกจากนี้ ฟอร์ดยังได้สร้างงานให้แก่พนักงานกว่า 10,000 คนในประเทศไทย
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวว่า “ ในนามของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ขอแสดงความยินดีกับ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ในโอกาสสำคัญครั้งนี้ ฟอร์ดนับเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดิฉันเชื่อมั่นว่าก้าวย่างที่สำคัญของฟอร์ดในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศไทย ในฐานะผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกรถยนต์ของภูมิภาค”
ทั้งนี้ ฟอร์ดได้เปิดตัว ฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ ในปีที่ผ่านมา โดยได้แนะนำความสะดวกสบายและความประณีตอีกระดับสู่เซ็กเมนต์รถกระบะ โดยไม่ละทิ้งความเป็นรถกระบะสายพันธุ์ “เกิดมาแกร่ง” ด้วยเทคโนโลยีอันชาญฉลาดครบครันผสมผสานกับสมรรถนะการขับขี่แบบออฟโรดและประสิทธิภาพในการประหยัดน้ำมัน ฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ เดินหน้าสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมรถกระบะไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการออกแบบ ความสะดวกสบายและความประณีต
ฟอร์ด เรนเจอร์ ยังคงเป็นรถกระบะที่เปี่ยมสมรรถนะที่สุดในบรรดารถกระบะระดับเดียวกัน โดยมาพร้อมความสามารถเหนือชั้นไม่ว่าจะเป็น ความสามารถในการลุยน้ำลึกถึง 800 มิลลิเมตรและส่วนของพื้นรถที่ยกสูงถึง 230 มิลลิเมตร ที่ได้รับการออกแบบและคิดค้นทางวิศวกรรมให้สามารถฝ่าฝันการขับขี่บนทุกสภาพถนนอย่างง่ายดาย
รถกระบะที่ชาญฉลาดที่สุด
ฟอร์ด เรนเจอร์ มาพร้อมเทคโนโลยีล้ำสมัยแบบครบครันเพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่เข้าถึงการเชื่อมต่อและง่ายต่อการควบคุม
- ระบบสั่งงานด้วยเสียงภายในรถยนต์ ฟอร์ด ซิงค์ ช่วยให้ผู้ขับขี่ใช้คำสั่งเสียงเพื่อควบคุมระบบความบันเทิงและระบบปรับอากาศภายในรถยนต์ โดยมาพร้อมหน้าจอทัชสกรีนซึ่งจอแสดงคำสั่งการใช้งานแต่ละเมนูแยกสีต่างกัน ทำให้การใช้งานเมนูง่ายดายยิ่งขึ้น
- สัญญาณเซ็นเซอร์ช่วยจอดหน้าหลัง (Front and Rear Park Assist) ใช้อุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจจับสิ่งกีดขวางขณะจอดรถ และส่งสัญญาณเสียงเตือนเมื่อรถเข้าใกล้สิ่งกีดขวางดังกล่าวที่ความเร็วต่ำ โดยกล้องมองหลังจะช่วยให้ผู้ขับขี่มองเห็นด้านท้ายรถอย่างชัดเจน ทำให้สามารถจอดรถหรือเตรียมการพ่วงรถได้อย่างมั่นใจ
- ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (Electronic Stability Program) พร้อมระบบลดความเสี่ยงจากการพลิกคว่ำ (Rollover Mitigation) และระบบลดอาการส่ายขณะลากจูงเทรลเลอร์ (Trailer Sway Control) ช่วยให้รถอยู่ในความควบคุมเสมอแม้ในสภาวะการขับขี่ที่ท้าทาย
- ฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ ยังมาพร้อมเทคโนโลยีอัจฉริยะอื่นๆ อาทิ
- ระบบช่วยการออกตัวขณะจอดรถบนทางลาดชัน (Hill Launch Assist) ช่วยให้ผู้ขับขี่ขับรถบนทางลาดชันได้อย่างมั่นใจ
- ระบบควบคุมความเร็วขณะลงเขา (Hill Descent Control) ที่ช่วยควบคุมการขับลงเขาที่เสริมแรงเบรกในระดับความเร็วต่อเนื่อง
- ระบบควบคุมการบรรทุก (Adaptive Load Control) ช่วยรักษาระบบควบคุมการทรงตัว ตามน้ำหนักของสัมภาระ
- ระบบเบรกฉุกเฉิน (Emergency Brake Assistance) ซึ่งจะส่งน้ำหนักไปที่ระบบเบรกเพื่อเพิ่มพลังในการเบรกเมื่อผู้ขับขี่ต้องเบรกกะทันหันในสถานการณ์ฉุกเฉิน
Leave a Reply